SIAM NITI LAW FIRM CO., LTD.

บริษัท สยาม นิติ ลอว์ เฟิร์ม จำกัด > Article > สัญญาต่างๆ ประเภทของสัญญา

สัญญาต่างๆ ประเภทของสัญญา

ประเภทของสัญญา
ประเภทของสัญญา สัญญามี 5 ประเภท คือ

1. สัญญาซึ่งมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญากับสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก

1) สัญญาซึ่งมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญา คือ สัญญาที่ทำต่อกันนั้นมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาด้วยกันเท่านั้น เช่น นายแดงทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายดำจำนวน 100,000 บาท นั้น สัญญานี้นายดำเจ้าหนี้ผู้ให้กู้เท่านั้นมีสิทธิเรียกให้นายแดงลูกหนี้ชำระหนี้นั้น บุคคลอื่นไม่มีสิทธิเรียกให้นายแดงชำระหนี้เงินกู้ยืมนี้ได้เลย และในขณะเดียวกันนายดำก็มีสิทธิเรียกให้นายแดงคนเดียวเท่านั้นชำระหนี้ให้ตนได้ นายดำจะไปเรียกให้บุคคลอื่นชำระหนี้เงินกู้ยืมรายนี้ไม่ได้

2) สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือ บุคคลอื่นผู้ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้หรือเป็นคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ทั้งๆ ที่บุคคลนั้นไม่ได้เป็นคู่สัญญาหรือเจ้าหนี้แต่อย่างใด เช่น สัญญาประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 889 เป็นต้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 38/2537 การยกให้โดยเสน่หาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่จะตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 ที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยมาตรา 521 นั้นจะต้องมีคูสัญญาสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้รับ แต่บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์และจำเลยกลับยอมให้ที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลังตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง หลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 แม้ไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

2. สัญญาต่างตอบแทนกับสัญญาไม่ต่างตอบแทน

1) สัญญาต่างตอบแทนนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกันกับนิติกรรมที่มีค่าตอบแทน เช่น สัญญาซื้อขายหรือสัญญาเช่าทรัพย์เป็นต้น

2) สัญญาไม่ต่างตอบแทน คือ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องชำระหนี้หรือกระทำการอย่างใดเป็นการตอบแทนคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นสัญญาให้โดยเสน่หาหรือสัญญาฝากทรัพย์โดยไม่มีบำเหน็จ (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 657,659) เป็นต้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 163/2518 เงินกินเปล่าที่ผู้เช่าชำระก่อนการเช่าไม่ทำให้เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จะต้องให้เช่าต่อจากที่การเช่าครบอายุคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้เช่าต่อไปนั้น เมื่อผู้ให้เช่าตายและผู้เช่าก็รู้แล้ว คำมั่นนั้นตกไปตามมาตรา 360 ไม่ผูกพันทายาทให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 569

3. สัญญามีค่าตอบแทนและไม่มีค่าตอบแทน

1) สัญญามีค่าตอบแทน คือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างได้รับค่าตอบแทนต่อกันและกันในการทำสัญญานั้น เช่น สัญญาซื้อขายผู้ขายย่อมได้รับเงินราคาทรัพย์สิ่งของที่ซื้อขายจากผู้ซื้อและต้องส่งมอบทรัพย์สิ่งของที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อ ฝ่ายผู้ซื้อก็ได้รับทรัพย์สิ่งของจากผู้ขายและต้องชำระราคาค่าทรัพย์สินสิ่งของที่ซื้อให้ผู้ขายด้วย เป็นต้น
2) สัญญาไม่มีค่าตอบแทน คือ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องให้ค่าตอบแทนแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด คงเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น เช่นสัญญาให้โดยเสน่หาหรือยืมใช้คงรูปเป็นต้น

4. สัญญาประธานกับสัญญาอุปกรณ์

1) สัญญาประธาน คือเป็นสัญญาแรกที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้แสดงเจตนาทำกันไว้ เช่น สัญญากู้ยืมเงินที่ผู้กู้ยืมคือลูกหนี้ขอกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ซึ่งสัญญากู้ยืมเงินนี้มีผลสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประธาน ต่อมาหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ฟ้องเรียกให้ชำระได้

2) สัญญาอุปกรณ์ คือก่อนที่เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินนั้นเจ้าหนี้แจ้งกับลูกหนี้ผู้กู้ยืมว่าหากลูกหนี้ผู้กู้ยืมไม่หาหลักประกันมาค้ำประกันหนี้เงินที่กู้ยืมนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินตามที่ขอกู้นั้น เมื่อลูกหนี้รู้เช่นนี้จึงได้หาหลักประกันมาค้ำประกันให้ไว้แก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้อาจนำบุคคลมาค้ำประกันหรือนำทรัพย์สินมาจดทะเบียนจำนองค้ำประกัน หรือนำทรัพย์สินมาจำนำไว้เป็นประกันเป็นต้น ดังนั้นเมื่อได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันแล้วก็ได้นำบุคคลมาทำสัญญาค้ำประกันไว้อีก สัญญาค้ำประกันเช่นนี้เรียกว่าเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นสัญญาประธานหรือสัญญาจ้างทำของ (มาตรา 857) ซึ่งได้มีการทำมัดจำ (มาตรา 377)หรือกำหนดเบี้ยปรับ (มาตรา 379) ไว้ด้วยเช่นนี้ สัญญามัดจำหรือสัญญาเบี้ยปรับเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างทำของที่เป็นสัญญาประธานนั้น เป็นต้น

5. สัญญาเอกเทศสัญญากับสัญญาไม่มีชื่อ

1) สัญญาเอกเทศสัญญา คือสัญญาที่มีชื่อระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา เช่นซื้อขาย (มาตรา 453) แลกเปลี่ยน (มาตรา 518) ให้ (มาตรา 521) เช่าทรัพย์ (มาตรา 537 ) เช่าซื้อ (มาตรา 572) จ้างแรงงาน (มาตรา 575) จ้างทำของ (มาตรา 587) รับขน (มาตรา 608) ยืม (มาตรา 640) ฝากทรัพย์ (มาตรา 657) ค้ำประกัน (มาตรา 680) จำนอง (มาตรา 702) จำนำ (มาตรา 747) เก็บของในคลังสินค้า (มาตรา 770) ตัวแทน (มาตรา 797) นายหน้า (มาตรา 815) ประนีประนอมยอมความ (มาตรา 850) การพนันและขันต่อ (มาตรา 853) บัญชีเดินสะพัด (มาตรา 856)ประกันภัย (มาตรา 861) ตั๋วเงิน (มาตรา 898) ห้างหุ้นส่วนและบริษัท (มาตรา 1012) สมาคม (มาตรา 1274)

2) สัญญาไม่มีชื่อ คือเป็นสัญญาซึ่งไม่มีชื่อบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เลย แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มีผลใช้บังคับกันได้ เช่น สัญญาร่วมหุ้น (เล่นแชร์เปียหวย) สัญญาให้ค่าตอบแทน สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) เป็นต้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1460/2495 เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างตึกมีกำหนดถึง 10 ปี แล้วผู้เช่าจะยกตึกที่ปลูกสร้างทดแทนให้เจ้าของที่ดินอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าเช่า ดังนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนกันยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด 10 ปีไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 595/2537 การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นลูกหนี้ ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ และแม้จำเลยทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ ซึ่ง ค. เป็นหนี้โจทก์ให้โจทก์ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของ ค. ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ที่ ค. ค้างชำระให้โจทก์ จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้และเมื่อหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะก็ต้องใช้อายุความ 10 ปี