SIAM NITI LAW FIRM CO., LTD.

บริษัท สยาม นิติ ลอว์ เฟิร์ม จำกัด > Article > กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล

กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล

กฏหมายลักษณะบุคคล

บุคคล คือสิ่งที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ สัตว์ไม่มีสิทธิและหน้าที่ จึงไม่ใช่บุคคล

ยังมีสิ่งอื่นซึ่งมีสภาพบุคคลด้วย ได้แก่ หมู่คน กองทรัพย์สิน หรือกิจการอันใดอันหนึ่ง เช่น สมาคม มูลนิธิ หรือกระทรวง ทบวงกรม ซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ เช่น สามารถทำการซื้อขายได้ เราเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า นิติบุคคล

ดังนั้นบุคคลจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. บุคคลธรรมดา

2. นิติบุคคล

บุคคลธรรมดา

บุคคลธรรมดา ได้แก่มนุษย์ทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด คนดีหรือคนบ้า ก็เป็นบุคคลธรรมดา

การเริ่มสภาพบุคคล

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 วรรค 1 บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก…” จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าการเริ่มสภาพบุคคลต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการคือ

1. การคลอด และ

2. การอยู่รอดเป็นทารก

ดังนั้นเด็กที่ยังไม่ได้คลอดจึงไม่มีสภาพบุคคล การคลอดนั้นต้องเป็นการคลอดที่สำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว เมื่อคลอดแล้วจะต้องอยู่รอดเป็นทารก โดยร่างกายต้องแยกต่างหากออกจากมารดา และมีการหายใจของทารก แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตามก็ถือว่ามีสภาพบุคคล ดังนั้นทารกที่ตายก่อนคลอดหรือแม้ขณะคลอด เมื่อไม่มีสภาพบุคคลแล้วก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายกฎหมายได้ยอมรับสิทธิของทารกซึ่งอยู่ในครรภ์มารดา ยังมิได้คลอด โดยมาตรา 15 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้ว่า “ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก” เช่น บิดาของทารกได้ตายลงในระหว่างที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ทารกย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของบิดา ถ้าหากว่าภายหลังได้เกิดมาและมีชีวิตรอดอยู่เป็นทารก สิทธิในการรับมรดกนี้ ย่อมย้อนหลังไปถึงเวลาที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา แต่มีเงื่อนไขว่าทารกที่เกิดมานั้นจะต้องมีชีวิตรอดอยู่

ทารกในครรภ์มารดาที่สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ คือทารกที่เกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่เจ้ามรดกคือบิดาตาย หรือภายใน 310 วันนับแต่วันที่ขาดจากการสมรส (มาตรา 1604 และ 1536)

มาตรา 15 วรรค 2 นี้ บัญญัติขึ้นเพื่อมิให้ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาเสียเปรียบผู้ที่เกิดมาแล้ว ในกรณีที่ทารกจะได้สิทธิต่าง ๆ เช่นสิทธิในการได้รับมรดก

การสิ้นสภาพบุคคล

มาตรา 15 วรรค 1 บัญญัติว่า “สภาพบุคคล…สิ้นสุดลงเมื่อตาย” เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ของผู้ตายย่อมตกทอดไปยังทายาทของผู้ตาย

การสิ้นสภาพของบุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

1. การตาย เป็นการสิ้นสภาพบุคคลโดยธรรมชาติ บุคคลจะถึงแก่ความตายตามธรรมชาติ เมื่อหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ได้มีการประชุมทางการแพทย์และกฎหมาย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2531 ที่ประชุมประกอบไปด้วยแพทย์ นักกฎหมาย และบุคคลทั่วไป ได้เห็นพ้องต้องกันว่า การตายเป็นปัญหาข้อเท็จจริงทางการแพทย์ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย
ความหมายของการตายในกฎหมายไทย สามารถตีความได้เหมาะแก่ยุคสมัยได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมอีก

2. การสาบสูญ เป็นการสิ้นสภาพบุคคลโดยผลของกฎหมาย ผู้ใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ก็เท่ากับว่าถึงแก่ความตาย

หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญ

การที่บุคคลได้จากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ไม่มีใครทราบข่าวคราว ไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นระยะเวลานานหลาย ๆ ปีนั้น ย่อมก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่บุคคลบางจำพวก เช่น บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตรของผู้ที่ไม่อยู่ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้ที่ไม่อยู่ กฎหมายจึงได้บัญญัติเรื่องการสาบสูญขึ้น หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญมีดังนี้ (มาตรา 61)

1. กรณีธรรมดา ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี

2. กรณีพิเศษ ระยะเวลาตาม 1. ให้ลดเหลือ 2 ปี

1. นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2. นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป เช่น เรืออับปาง หรือเครื่องบินตก เป็นต้น

3. นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน 2.1 หรือ 2.2 ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น เช่น ไปสำรวจในป่าทึบแล้วไม่กลับมา หรือถูกโจรก่อการร้ายจับตัวไป เป็นต้น

3. ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งแสดงการสาบสูญ ได้แก่

1. ผู้มีส่วนได้เสีย หรือ

2. พนักงานอัยการ

4. ต้องมีคำสั่งของศาลแสดงการสาบสูญ เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตาม 1. หรือ 2. แล้วผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสียในที่นี้ คือผู้มีส่วนได้หรือส่วนเสียในความเป็นความตายของผู้นั้น เช่น บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตรเป็นต้น เมื่อศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วให้โฆษณาคำสั่งแสดงสาบสูญของศาลในราชกิจจานุเบกษา การสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเป็นดุลยพินิจของศาล

ผลทางกฎหมายของการเป็นคนสาบสูญ

มาตรา 62 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61” บุคคลที่เป็นคนสาบสูญนั้น กฎหมายให้ถือว่าถึงแก่ความตาย เป็นการสิ้นสภาพบุคคล ทรัพย์มรดกต่าง ๆ ย่อมตกทอดไปยังทายาท

การเป็นคนสาบสูญนั้น มิใช่ถือว่าถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ แต่เป็นการถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่บุคคลผู้นั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และ 2 ปีนับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว หรือนับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป หรือนับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตอย่างอื่นได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

กรณีไม่ทราบวันเกิดแน่นอนของบุคคล

เมื่อเด็กเกิดมา คนที่เป็นเจ้าบ้านหรือบิดามารดาของเด็กต้องไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียน

ผู้รับแจ้ง ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534 แต่มีบางกรณีที่เจ้าบ้านหรือบิดามารดาของเด็กไม่ได้แจ้งการเกิดของเด็กไว้ หรือไม่ได้จดวัน เดือน ปีเกิดของเด็กไว้ หรืออาจเป็นกรณีที่ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรสูญหายไป ซึ่งทำให้ไม่ทราบ วัน เดือน ปีเกิดของเด็กการรู้วันเกิดเป็นสิ่งจำเป็นในทางกฎหมาย เช่นทำให้รู้ว่าบุคคลเป็นผู้บรรลุนิติภาวะหรือยัง ผู้เยาว์ทำพินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่ สำหรับเรื่องนี้มาตรา 16 บัญญัติไว้ว่า “การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด” จากมาตรา 16 นี้แยกพิจารณาได้ดังนี้

1.การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด

2.ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด เช่น นายแดงเกิดเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 แต่ไม่รู้ว่าเกิดวันไหน ให้ถือว่านายแดงเกิดวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2500

แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ตามพระราชบัญญัติปีปฏิทินหลวง พ.ศ. 2483 ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันต้นปี บุคคลใดที่เกิดก่อน พ.ศ. 2484 ให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเกิด แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเกิด เช่น นายเขียวเกิด พ.ศ. 2484 แต่ไม่รู้ว่าเกิดวันไหน ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นวันเกิดของนายเขียว

กรณีไม่ทราบลำดับแน่นอนแห่งการตายของบุคคล

การที่บุคคลถึงแก่ความตายพร้อม ๆ กัน อาจพบเห็นได้เสมอ ๆ เช่น เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน เครื่องบินตก เรืออับปาง หรือเกิดไฟไหม้ ทำให้คนทั้งครอบครัวถึงแก่ความตายในคราวเดียวกัน จึงทำให้เกิดปัญหาว่าใครตายก่อนหลังใคร ซึ่งมีผลทางกฎหมายเกี่ยวกับการรับมรดก เพราะถ้าผู้มีสิทธิรับมรดกตายก่อนหรือพร้อมกับเจ้ามรดกก็จะไม่ได้รับมรดก แต่ถ้าตายหลังเจ้ามรดกก็จะมีสิทธิได้รับมรดก ซึ่งในเรื่องนี้มาตรา 17 บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง ให้ถือว่าตายพร้อมกัน” บางครั้งเราสามารถทราบได้ว่าคนไหนตายก่อน เช่น ในอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันครั้งหนึ่งเราเห็นคนหนึ่งตายไปแล้ว แต่อีกคนหนึ่งยังหายใจอยู่ ถ้ากรณีไม่ทราบว่าใครตายก่อน กฎหมายให้ถือว่าตายพร้อมกัน

สิ่งที่ได้แก่สภาพบุคคล

ส่วนประกอบของสภาพบุคคลมีดังนี้คือ

1. ชื่อ

2. ภูมิลำเนา

3. สถานะ

4. ความสามารถ

ชื่อ

ชื่อ เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลเพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนเป็นใคร มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไร มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร

ส่วนประกอบของชื่อบุคคล

ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ส่วนประกอบของชื่อบุคคลมีดังนี้คือ

1. ชื่อตัว หมายความว่า ชื่อประจำบุคคล

2. ชื่อรอง หมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว

3. ชื่อสกุล หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล ไม่เป็นชื่อของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ชื่อสกุลได้มาโดยผลที่ได้เกิดมามีสภาพบุคคล บุตรที่เกิดมาย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา (ป.พ.พ.มาตรา 1561) พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า “หญิงมีสามีให้ใช้ชื่อสกุลของสามี” นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นอันใช้บังคับมิได้ (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2546) ดังนั้นหญิงมีสามีจึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้

สาระสำคัญของชื่อบุคคล

ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ชื่อบุคคลมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1. ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และจะมีชื่อรองก็ได้

2. ชื่อตัวหรือชื่อรองต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของ
พระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

3. ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หรือผู้เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอด จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์นั้นเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้

4. ชื่อสกุลต้อง

1.ไม่พ้อง หรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี

2.ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตนของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน

3.ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

4.ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

5.มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

ลักษณะพิเศษของชื่อบุคคล

ลักษณะพิเศษของชื่อบุคคลมีดังนี้

1. ชื่อบุคคลไม่อาจได้มาหรือสูญเสียไปโดยอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บุคคลอาจได้ทรัพย์สินมาด้วยการครอบครองปรปักษ์ เช่นนายดำครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงหนึ่งของนายแดงโดยสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อครบ 10 ปี นายแดงย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น แต่สำหรับชื่อบุคคลแล้ว ไม่อาจได้มาหรือสูญเสียไปโดยอายุความ เช่น
มีคนคนหนึ่งเอาชื่อสกุลของเราไปใช้ แม้เขาจะใช้ชื่อของเรานานเท่าใด เขาก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในชื่อนั้น เราย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องไม่ให้เขาใช้ชื่อของเราต่อไปได้

2. ชื่อบุคคลเป็นสิ่งที่จำหน่ายให้แก่กันมิได้ ชื่อในทางการค้าอาจจำหน่ายให้แก่กันได้ เช่น บริษัทหนึ่งเอาชื่อสินค้าของอีกบริษัทหนึ่งมาตั้งเป็นชื่อสินค้าของบริษัทตนเอง โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ก็ย่อมทำได้ ถ้าทั้งสองบริษัทยินยอมตกลงกัน สำหรับชื่อของบุคคลนั้นไม่อาจซื้อขายกันได้

3. ชื่อบุคคลต้องอยู่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะถ้าให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อกันง่าย ๆแล้ว จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ เช่น คนคนหนึ่งอาจจะเปลี่ยนชื่อหลายสิบครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงหน้าที่ที่ตนจะต้องปฏิบัติ หรือทำการทุจริตในทางต่าง ๆ ได้

ภูมิลำเนา

ภูมิลำเนา คือถิ่นอันบุคคลมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ ภูมิลำเนาเป็นที่อยู่ตามกฎหมายของบุคคล เป็นสิ่งที่กฎหมายสมมติว่าเขาอยู่ที่นั่นเสมอไป บุคคลอาจมีที่อยู่หลายแห่ง หรือท่องเที่ยวไปมาไม่มีที่อยู่แน่นอน แต่เขาต้องมีภูมิลำเนาที่กฎหมายได้กำหนดให้แห่งใดแห่งหนึ่ง

การกำหนดภูมิลำเนา

มาตรา 37 บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ” จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าภูมิลำเนาของบุคคลมีลักษณะ 2 ประการคือ

1. เป็นถิ่นอันเป็นสถานที่อยู่ของบุคคล สถานที่ที่บุคคลได้อยู่อาศัยกินอยู่หลับนอน ได้แก่ บ้านเรือน ตึกแถว อาคารชุด โรงแรม เรือ วัด เป็นต้น คำว่า “ถิ่น” มิได้มีความหมายไปถึงตำบล อำเภอ หรือจังหวัด หากหมายความจำกัดถึงตัวถิ่นที่ตั้งแห่งสถานที่พักอาศัย

2. สถานที่อยู่นั้นต้องเป็นแหล่งสำคัญ บุคคลบางคนอาจจะมีที่อยู่หลายแห่ง เช่น นายเขียวทำงานที่กรุงเทพฯ เขามีบ้านพักอยู่ที่กรุงเทพฯหลังหนึ่ง และมีบ้านพักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่อีกหลังหนึ่ง นายเขียวจะไปพักผ่อนที่บ้านพักที่จังหวัดเชียงใหม่ปีละประมาณหนึ่งเดือน เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าบ้านพักของนายเขียวที่กรุงเทพฯ เป็นสถานที่อยู่ที่เป็นแหล่งสำคัญ ไม่ใช่เป็นที่พักชั่วคราวเหมือนที่พักที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นบ้านพักที่กรุงเทพฯจึงเป็นภูมิลำเนาของนายเขียว แต่ถ้าบุคคลมีสถานที่อยู่แห่งเดียวแล้วก็คงไม่มีปัญหาในเรื่องการกำหนดภูมิลำเนา

ปัญหาในการกำหนดภูมิลำเนา

ปัญหาในการกำหนดภูมิลำเนามีดังนี้คือ

1. กรณีที่บุคคลมีที่อยู่หลายแห่งและแต่ละแห่งมีความสำคัญเท่า ๆ กัน มาตรา 38 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไป หรือมีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติหลายแห่ง ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น” เช่น นายม่วงมีที่ทำการค้าขายทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดพิษณุโลก นายม่วงเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯและพิษณุโลกเป็นประจำ ที่ทำการค้าขายทั้งสองแห่งนี้มีความสำคัญเท่า ๆ กัน กฎหมายให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของนายม่วง คือจะเลือกเอาที่ทำการค้าขายที่กรุงเทพฯหรือพิษณุโลกแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาก็ได้

2. กรณีที่ภูมิลำเนาของบุคคลไม่ปรากฏ มาตรา 39 บัญญัติว่า “ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา” เช่น นายส้มไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญแห่งใด ขณะนี้นายส้มมารับจ้างเป็นคนงานเหมืองแร่ที่จังหวัดระนอง ย่อมถือว่าภูมิลำเนาของนายส้มอยู่ที่ที่พักของเขาที่จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของเขาในขณะนี้

3. กรณีบุคคลไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง มาตรา 40 บัญญัติว่า “บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง หรือเป็นผู้ครองชีพในการเดินทางไปมาปราศจากหลักแหล่งที่ทำการงาน พบตัวในถิ่นไหน ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น” เช่น คนจรจัดที่เร่ร่อนไปตามที่ต่าง ๆ ไม่มีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน หรือผู้มีอาชีพค้าขายโดยอาศัยเรือเป็นพาหนะ เดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง เพื่อซื้อขายสินค้า เมื่อซื้อขายเสร็จแล้วก็เดินทางต่อไปอีกจึงเป็นการยากที่จะหาถิ่นที่อยู่ที่แน่นอนของบุคคลเหล่านี้ มาตรา 40 จึงบัญญัติว่าพบตัวในถิ่นไหน ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น

ภูมิลำเนาของบุคคลบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้

ตามหลักทั่วไปแล้วบุคคลย่อมมีอิสระในการเลือกภูมิลำเนาของตนเอง แต่กฎหมายก็ได้กำหนดภูมิลำเนาของบุคคลบางประเภทไว้ดังนี้

1. ภูมิลำเนาของสามีและภริยา ภูมิลำเนาของสามีและภริยา ได้แก่ถิ่นที่อยู่ที่สามีและภริยาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา เว้นแต่สามีหรือภริยาได้แสดงเจตนาให้ปรากฎว่ามีภูมิลำเนาแยกต่างหาก
จากกัน (มาตรา 43)

2. ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ ได้แก่ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง

ในกรณีที่ผู้เยาว์อยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ถ้าบิดาและมารดามีภูมิลำเนาแยกต่างหากจากกัน ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ได้แก่ภูมิลำเนาของบิดาหรือมารดาซึ่งตนอยู่ด้วย (มาตรา 44)

3. ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามารถ ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามารถ ได้แก่ภูมิลำเนาของ
ผู้อนุบาล (มาตรา 45)

4. ภูมิลำเนาของข้าราชการ มาตรา 46 บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของข้าราชการ ได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ หากมิใช่เป็นตำแหน่งหน้าที่ชั่วคราว ชั่วระยะเวลา หรือเป็นเพียงแต่งตั้งไปเฉพาะการครั้งเดียวคราวเดียว” จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าการกำหนดภูมิลำเนาของข้าราชการ มีหลักสำคัญคือ

1.ต้องเป็นถิ่นอันเป็นที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ และ

2.ตำแหน่งหน้าที่นั้นต้องเป็นการประจำมิใช่ตำแหน่งชั่วคราว

ตัวอย่าง ข้าราชครูคนหนึ่ง ได้รับคำสั่งให้ไปทำการสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เป็นการประจำ ภูมิลำเนาของข้าราชการครูคนนั้นจึงอยู่ที่โรงเรียนที่เขาสอนในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ถ้าเป็นข้าราชการครูที่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเพียง 2-3 เดือนที่โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ย่อม
ไม่ถือว่าโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่นั้นเป็นภูมิลำเนาของข้าราชการครูผู้นั้น

5. ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุก ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล หรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว (มาตรา 47)

สถานะของบุคคล

สถานะของบุคคล คือฐานะหรือตำแหน่งที่บุคคลดำรงอยู่ในสังคม เช่น เป็นเพศชายหรือเพศหญิง เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นคนไทย หรือคนต่างด้าว เมื่อเรารู้สถานะของบุคคลทำให้เรารู้ถึงสิทธิและหน้าที่ว่ามีอยู่อย่างไร เช่น เพศหญิงไม่ต้องเป็นทหาร เพศชายต้องเป็นทหาร เด็กที่อายุไม่ถึงยี่สิบปีบริบูรณ์ย่อมยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อจะทำนิติกรรมต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คนไทยย่อมมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง คนต่างด้าวไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

ตั้งแต่บุคคลเกิดจนถึงแก่ความตาย ก็จะต้องมีการจดทะเบียนสถานะของบุคคลหลายอย่างด้วยกัน เช่น เมื่อเกิดมาก็ต้องไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียน เมื่อสมรสก็ต้องไปจดทะเบียนสมรส ทำให้รู้ว่าบุคคลมีอายุเท่าไร บรรลุนิติภาวะแล้วหรือยัง ยังเป็นโสดหรือทำการสมรสแล้ว ทำให้รู้สถิติจำนวนคนเกิดคนตายในแต่ละท้องถิ่น ทำให้รู้จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตหนึ่ง ๆ และรู้จำนวนผู้ที่จะต้องมารับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารในปีหนึ่ง ๆ

การจดทะเบียนสถานะของบุคคล

การจดทะเบียนสถานะของบุคคลมีดังนี้คือ

1. การเกิด ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดดังต่อไปนี้

1.1 คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด

“เจ้าบ้าน” หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตาม ในกรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าบ้าน หรือเจ้าบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย สาบสูญ หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน

1.2 คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนดให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันเกิดการแจ้งตาม 1.1 และ 1.2 ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

1.3 เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กอ่อนถูกทอดทิ้ง ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือ
เด็กอ่อนซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้นำเด็กนั้นไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์แห่งท้องที่ที่ตนพบเด็กนั้นโดยเร็ว ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับไว้ ให้บันทึกการรับตัวเด็กตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด แล้วนำเด็กส่งเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้แจ้งการมีคนเกิดต่อ
นายทะเบียนผู้รับแจ้ง

2. การตาย ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 เมื่อมีคนตายให้แจ้งการตาย
ดังต่อไปนี้

2.1 คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย ในกรณีไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาพบศพ

2.2 คนตายนอกบ้าน ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพแล้วแต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่พึงแจ้งได้ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ ในกรณีเช่นนี้จะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้

กำหนดเวลาให้แจ้งตาม 2.1 และ 2.2 ถ้าในท้องที่ใดการคมนาคมไม่สะดวก ผู้อำนวยการทะเบียนกลางอาจขยายเวลาออกไปตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบ

ศพ การแจ้งตาม 2.1 และ 2.2 ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อผู้แจ้งด้วย

2.3 เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตาม 1.1 1.2 2.1 หรือ 2.2 ข้างต้น

3. การสมรส ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1457 บัญญัติว่า “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น” ถ้าไม่จดทะเบียน กฎหมายไม่ถือว่ามีการสมรส

4. การหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 การหย่านั้นทำได้ 2 วิธีคือ

4.1 การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย มาตรา 1515 บัญญัติว่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

4.2 การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลจะมีผลนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว (มาตรา 1511 และ 1512)

5. การเพิกถอนการสมรส จะมีได้โดยคำพิพากษาของศาลเท่านั้น (มาตรา 1501)

การสมรสที่ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้าง เป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการเพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว (มาตรา 1511)

6. การรับบุตรบุญธรรม บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี จะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (มาตรา1598/19)

การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน (มาตรา 1597/27)

ตัวอย่าง ก.สามีของ ข.จดทะเบียนรับ ค.เป็นบุตรบุญธรรม โดย ข.ยินยอมด้วย ค.บุตรบุญธรรมมีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก.เท่านั้น (ฎีกาที่ 2221/2522)

7. การเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้ว จะเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลงกันในระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมเมื่อใดก็ได้ ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย (มาตรา 1598/31)

8. การรับรองบุตร ตามมาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน ย่อมเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ในกรณีต่อไปนี้

1.บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันสมรส

2.บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันจดทะเบียน

3.ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นจะได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรตามคำพิพากษา (มาตรา 1557)

ความสามารถ

ความสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการคือ

1. ความสามารถในการมีสิทธิ ทุกคนที่เกิดมาไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย ยากจนหรือร่ำรวย ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน แต่สิทธิบางอย่างบุคคลจะมีได้ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผู้เยาว์มีสิทธิที่จะทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว

2. ความสามารถในการใช้สิทธิ ในการใช้สิทธิกระทำการต่าง ๆ บุคคลจะต้องมีความสามารถ มีความรู้สึกผิดชอบ เด็กแรกเกิดย่อมสามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ แต่ไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้โดยลำพังตนเอง เนื่องจากยังไร้เดียงสา ไม่อาจใช้ความนึกคิด ไม่มีความรู้ความชำนาญแต่เดิมมานั้น หญิงมีสามีถูกกฎหมายตัดทอนความสามารถหลายประการ เช่น หญิงมีสามีจะทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์ต้องได้รับอนุญาตจากสามีเสียก่อน แต่ปัจจุบันนี้ กฎหมายที่ตัดทอนความสามารถของหญิงมีสามีได้ถูกยกเลิกไปแล้ว หญิงมีสามีจึงไม่เป็นบุคคลที่หย่อนความสามารถต่อไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”

บุคคลที่หย่อนความสามารถ หรือถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิมี 3 ประเภทคือ

1. ผู้เยาว์

2. คนไร้ความสามารถ

3. คนเสมือนไร้ความสามารถ

ผู้เยาว์

ผู้เยาว์ คือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังอ่อนในด้านสติปัญญา ความคิด และร่างกาย ผู้เยาว์ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเอง เพราะขาดความรู้ ความชำนาญ ถ้าปล่อยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเองแล้ว อาจจะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความรู้ ความสามารถดีกว่าทำการเอาเปรียบได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์

การบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์

ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะได้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ

1. บรรลุนิติภาวะโดยอายุ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 บริบูรณ์ (มาตรา 19)

2. บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว (มาตรา 20 และ 1448)

ผู้เยาว์ทำนิติกรรม

มาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” จะเห็นได้ว่าผู้เยาว์จะทำนิติกรรม จะต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน เช่น ผู้เยาว์ต้องการเช่าบ้าน 1 หลัง ต้องการกู้เงินจากบุคคลอื่น หรือต้องการซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน

ใครเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม

ผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่

1. ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร (มาตรา 1569) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่บิดามารดาของบุตร (มาตรา 1566)

2. ผู้ปกครอง ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ก็อาจมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองได้ (มาตรา 1585) ผู้ปกครองนั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง (มาตรา 1586)

การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมจะทำอย่างไรก็ได้ เช่น ให้ความยินยอมเป็น ลายลักษณ์อักษร ด้วยวาจา หรือให้ความยินยอมโดยปริยายก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของนิติกรรมนั้น ๆ เช่น ผู้เยาว์ต้องการทำนิติกรรมซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจจะเขียนหนังสืออนุญาตให้ผู้เยาว์ซื้อได้ หรืออนุญาตด้วยวาจาให้ซื้อได้ หรือเมื่อผู้เยาว์จะไปซื้อรถยนต์ผู้แทนโดย ชอบธรรมรู้เรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามหรือขัดขวางแต่ประการใด จึงถือว่าเป็นการให้ความยินยอมโดยปริยาย

ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องให้ความยินยอมเมื่อใด

การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น ต้องให้ก่อนที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรม หรืออย่างช้าขณะที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรม ถ้าให้ความยินยอมภายหลังถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน เช่นผู้เยาว์ต้องการทำ
นิติกรรมซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องให้ความยินยอมก่อนที่ผู้เยาว์จะซื้อรถยนต์ หรือขณะกำลังซื้อรถยนต์

ผลของการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

เมื่อผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว นิติกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆียะ (มาตรา 21) นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น มิใช่ว่าเป็นนิติกรรมที่สูญเปล่าไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นยังใช้ได้อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง เมื่อบอกล้างแล้วจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะคือ ตัวผู้เยาว์เอง และผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าผู้เยาว์ต้องการบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน หรือเมื่อตัวผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ก็สามารถบอกล้างนิติกรรมนั้นได้โดยลำพังตนเองเช่น ผู้เยาว์ไปซื้อรถยนต์ 1 คันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมซื้อขายรถยนต์ที่ผู้เยาว์ทำกับผู้ขายนั้นย่อมเป็นโมฆียะ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน เมื่อเป็นโมฆียะแล้วผู้มีสิทธิบอกล้าง คือ ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ เมื่อบอกล้างแล้วทำให้โมฆียะกรรมนั้นกลายเป็นโมฆะ คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้เยาว์ต้องคืน รถยนต์ให้กับผู้ขาย และผู้ขายต้องคืนเงินให้แก่ผู้เยาว์

การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนี้อาจสมบูรณ์ได้ด้วยการให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันคือการรับรองว่านิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เช่น ผู้เยาว์ซื้อรถยนต์ 1 คันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมเป็นโมฆียะ ต่อมาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้สัตยาบัน ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นกลายเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ อาจจะสมบูรณ์ได้อีกทางหนึ่งคือโดยอายุความ ในกรณีดังนี้ (มาตรา 181)

1. ไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้

2. ไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่เวลาที่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ

นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ตามลำพังตนเอง

ตามปกติแล้วผู้เยาว์จะทำนิติกรรมต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว จะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ แต่มีนิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ตามลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมเหล่านี้มีดังนี้คือ

1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (มาตรา 22) ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

1.1 นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง เช่น นาย ก. มอบเงินให้เด็กชาย ข. ผู้เยาว์ 20,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน เด็กชาย ข. สามารถทำสัญญารับเงินจำนวนนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะสัญญาให้เงินนี้ผู้เยาว์เป็นผู้ได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียว ผู้เยาว์ไม่เสียประโยชน์เลย แต่ถ้าสัญญานี้มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันแล้ว ผู้เยาว์ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน เช่น นาย ก. ให้เงินเด็กชาย ข. โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อนาย ก. แก่ชรา เด็กชาย ข. ต้องมาเลี้ยงดูนาย ก. เช่นนี้ถ้าเด็กชาย ข. ต้องการรับเงินนั้น จะต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน

1.2 นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เช่น เด็กชาย ข. ผู้เยาว์เป็นหนี้นาย ก. อยู่ 10,000 บาท ต่อมานาย ก. ต้องการจะปลดหนี้รายนี้ให้เด็กชายข. ซึ่งจะทำให้หนี้รายนี้ระงับสิ้นไป สัญญาปลดหนี้รายนี้เด็กชาย ข.ไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะเป็นสัญญาที่ทำให้เด็กชาย ข. หลุดพ้นจากการที่จะต้องชำระหนี้ให้กับนาย ก.

2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (มาตรา 23) นิติกรรมเช่นนี้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เช่น การรับรองบุตร

ตัวอย่าง ผู้เยาว์อายุ 19 ปีมีบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน ผู้เยาว์จดทะเบียนรับรองบุตรคนนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม

3. นิติกรรมซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควรของผู้เยาว์
ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร (มาตรา 24) เช่น ผู้เยาว์เป็นนักเรียนต้องซื้อเครื่องเขียนแบบเรียน ต้องซื้อเสื้อผ้า รองเท้าเพื่อใส่ไปโรงเรียน การซื้อเช่นนี้เป็นการสมแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์ และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร แต่ถ้าผู้เยาว์ต้องการซื้อรถยนต์เพื่อขับไปโรงเรียน ถ้าเป็นสิ่งที่เกินฐานะและเกินความ จำเป็นแล้ว ผู้เยาว์จะต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน

4. ผู้เยาว์ทำพินัยกรรม ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม (มาตรา 25) ถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยมีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ พินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ (มาตรา 1703)

5. ผู้เยาว์ประกอบธุรกิจการค้าหรือทำสัญญาเป็นลูกจ้าง ในกรณีผู้เยาว์ประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (มาตรา 27)

คนไร้ความสามารถ

หลักเกณฑ์ของการเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 28 วรรค 1 บัญญัติว่า “บุคคลวิกลจริตผู้ใดถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้” จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าบุคคลที่จะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องเป็นบุคคลวิกลจริต และการวิกลจริตนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้

1. ต้องเป็นอย่างมาก คือวิกลจริตชนิดที่พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้สึกผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง

2. เป็นอยู่ประจำ คือวิกลจริตอยู่สม่ำเสมอ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นอยู่ตลอดเวลา อาจมีเวลาที่มีสติอย่างคนธรรมดาบางเวลา ในเวลาต่อมาก็เกิดวิกลจริตอีก เช่นนี้เรื่อยไป บุคคลวิกลจริตที่เป็นอย่างมากและเป็นอยู่ประจำเช่นนี้ กฎหมายต้องการให้ความคุ้มครอง เพราะมิฉะนั้นจะถูกบุคคลอื่นเอารัด เอาเปรียบ ทำให้เป็นที่เสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลวิกลจริตได้

บุคคลที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ

บุคคลวิกลจริตที่มีลักษณะเป็นอย่างมากและเป็นอยู่ประจำ อาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ บุคคลที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถได้แก่

1. คู่สมรส

2. ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด

3. ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ 4. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์

5. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่

6. พนักงานอัยการ

บุคคล 6 ประเภทนี้เท่านั้นที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง ของบุคคลวิกลจริตไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งใน 6 ประเภทนี้ร้องขอต่อศาล ศาลจะใช้ดุลยพินิจไต่สวน ถ้ามีหลักฐานเพียงพอและมีเหตุผล
สมควรแล้ว ศาลก็จะสั่งให้บุคคลวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ และให้โฆษณาคำสั่งของศาลที่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนี้ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้ทราบทั่วกัน การเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ตัวอย่าง น้าไม่ใช่บุพการี และไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูที่จะฟังได้ว่าเป็นผู้พิทักษ์ตามพฤตินัยจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ (ฎีกาที่ 1044/2522)

ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถ

ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถมีดังนี้คือ

1. ต้องอยู่ในความอนุบาล บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล (มาตรา 28 วรรค 2) ผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถได้แก่

1.1 ผู้เยาว์เป็นคนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาล (มาตรา 1569) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่บิดามารดาของบุตร (มาตรา 1566) ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ผู้ปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาล หรือศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้อนุบาลก็ได้ (มาตรา 1569/1)

1.2 บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสเป็นคนไร้ความสามารถ ให้บิดา มารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น (มาตรา 1569/1)

1.3 สามีหรือภรรยาเป็นคนไร้ความสามารถ ภรรยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาล แต่เมื่อ
ผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ (มาตรา 1463)

2. ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรม มาตรา 29 บัญญัติว่า “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ” การใด ๆตามมาตรานี้คือนิติกรรมนั่นเอง คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ไม่ได้เลย ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทนทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถทำนิติกรรม นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ ผู้อนุบาลที่ศาลตั้งไม่อาจจะให้ความ ยินยอมหรือให้คำอนุญาตใด ๆ แก่คนไร้ความสามารถไว้ล่วงหน้าได้ นอกจากจะบอกล้างหรือให้สัตยาบันภายหลังที่คนไร้ความสามารถได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นแล้ว เป็นการตัดอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถ แม้จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นสำหรับประทังชีวิตก็ไม่มีความสามารถที่จะทำได้ ถ้าฝ่าฝืนทำไปการนั้นเป็นโมฆียะ เพราะไม่มีกฎหมายยกเว้นไว้เหมือนผู้เยาว์

แต่ถ้าเป็นกรณีที่คนไร้ความสามารถทำละเมิด คนไร้ความสามารถต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด โดยผู้อนุบาลต้องรับผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น (มาตรา 429) เช่น คนไร้ความสามารถไปทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น คน
ไร้ความสามารถนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย การทำละเมิดนั้นไม่โมฆียะ

คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมไม่ได้ ถ้าคนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมขึ้น พินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ (มาตรา 1704) และคนไร้ความสามารถทำการสมรสไม่ได้ถ้าฝ่าฝืนการสมรสย่อมตกเป็นโมฆะ (มาตรา 1449 และ 1495)

การสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 31 บัญญัติว่า “ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และบุคคล
ผู้นั้นเองหรือบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

จากมาตรา 31 จะเห็นได้ว่าการเป็นคนไร้ความสามารถสิ้นสุดลงเมื่อเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว เช่น คนไร้ความสามารถกลับมีสติดังเดิม หายจากการเป็นคนวิกลจริต ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลถอนคำสั่งการเป็นคนไร้ความสามารถมีดังนี้

1. คนไร้ความสามารถนั้นเอง เมื่อหายจากวิกลจริต

2. คู่สมรส

3. ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด

4. ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ

5. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์

6. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่

7. พนักงานอัยการ

เมื่อบุคคลดังกล่าวไปร้องขอต่อศาลแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าคนไร้ความสามารถนั้นหายจากการเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ศาลต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถเสีย และคำสั่งของศาลเพิกถอนคำสั่งเดิมนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา การสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม

คนเสมือนไร้ความสามารถ

หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 32 บัญญัติว่า “บุคคลใดมีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือ
ครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้” จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1. มีเหตุบกพร่องบางอย่าง เหตุบกพร่องที่ศาลอาจสั่งให้บุคคลเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้แก่

1.1 กายพิการ ไม่ว่าส่วนไหนของร่างกายจะพิการก็ได้ เช่น หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แขนขาด ขาขาด ซึ่งอาจเป็นมาโดยกำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น เกิดจากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ หรือชราภาพ

1.2 จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หมายถึงบุคคลที่จิตผิดปกติ สมองพิการ แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกลจริต ยังมีความคิดคำนึงอยู่บ้าง และสามารถทำกิจกรรมหลายอย่างได้ด้วยตนเอง

1.3 ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะอยู่เป็นประจำ ซึ่งทำให้ทรัพย์สมบัติร่อยหรอลงไปทุกวัน ในที่สุดก็จะหมดตัว และการใช้จ่าย ดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ แต่ถ้านาน ๆ จ่ายสักครั้งหนึ่ง เช่น จัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิด ซึ่งปีหนึ่งจัดครั้งหนึ่งไม่ถือว่าเป็นการประพฤติสุรุ่ยสุร่าย

1.4 ติดสุรายาเมา เช่น ดื่มสุราจัด เมาตลอดเวลา ติดฝิ่น เฮโรอีน เป็นประจำจนละเว้นเสียไม่ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ความรู้สึกผิดชอบลดน้อยลงไป

1.5 มีเหตุอื่นทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วใน 1.1 – 1.4

2. ไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัวเพราะเหตุบกพร่องดังกล่าวเมื่อมีเหตุบกพร่อง 5 ประการดังกล่าวแล้ว บุคคลนั้นยังต้องไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ถ้าบุคคลนั้นสามารถจัดทำการงานของตนเองได้ ก็ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เช่น นาย ก. มีกายพิการหรือติดสุรายาเมา แต่นาย ก. สามารถทำการงานของตนเองได้เป็นปกติไม่เกิดความเสียหาย เช่นนี้นาย ก. ก็ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

บุคคลที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคล

เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

บุคคลที่มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้บุคคลที่มีเหตุบกพร่อง และไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ตามมาตรา 32 เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลตามมาตรา 28 ซึ่งได้แก่

1. คู่สมรส

2. ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด

3. ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ

4. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์

5. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่

6. พนักงานอัยการ

เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งใน 6 ประเภทนี้ร้องขอต่อศาลแล้วศาลจะไต่สวนคำร้อง เมื่อปรากฏความจริงตามคำร้อง ศาลจะสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และคำสั่งของศาลนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้ทราบ การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมีดังนี้คือ

1. ต้องอยู่ในความพิทักษ์ บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ (มาตรา 32 วรรค 2) ผู้พิทักษ์ของคนเสมือนไร้ความสามารถได้แก่

1. ผู้เยาว์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้พิทักษ์ (มาตรา 1569) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่บิดามารดาของบุตร (มาตรา 1566) ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ผู้ปกครองย่อมเป็นผู้พิทักษ์ หรือศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้พิทักษ์ก็ได้

2. บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถให้บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น (มาตรา 1569/1)

3. สามีหรือภรรยาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถภรรยาหรือสามีย่อมเป็นผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้พิทักษ์ก็ได้ (มาตรา 1463)

2. ไม่สามารถทำนิติกรรมบางชนิด ตามหลักทั่วไป ถือว่าคนเสมือนไร้ความสามารถมีความสามารถเป็นหลัก ความไม่สามารถหรือหย่อนความสามารถเป็นข้อยกเว้น คือคนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้นนิติกรรมบางประเภทที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถจะทำนิติกรรมดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์เสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว
นิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ ส่วนตัวผู้พิทักษ์ก็คงมีอำนาจเพียงให้ความยินยอมเท่านั้น จะกระทำการแทนคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้ นิติกรรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ได้แก่

1. นำทรัพย์สินไปลงทุน

2. รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

3. กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

4. รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

5. เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี

6. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

7. รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้ โดยเสน่หา

8. ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มา หรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

9. ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

10. เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

11. ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

3. ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวใน 2. ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้

4. ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวใน 2. หรือ 3. ได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

สิ้นสุดของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถสิ้นสุดลง เมื่อเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว เช่น คนเสมือนไร้ความสามารถมีจิตเป็นปกติ หรือไม่ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย หรือไม่ติดสุรายาเมาต่อไป และสามารถประกอบการงานโดยตนเองได้ ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลถอนคำสั่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมีดังนี้

1. คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นเอง เมื่อเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

2. คู่สมรส

3. ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด

4. ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ

5. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์

6. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่

7. พนักงานอัยการ

เมื่อบุคคลดังกล่าวไปร้องขอต่อศาลแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ศาลต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเสีย และคำสั่งของศาลเพิกถอนคำสั่งเดิมนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา การสิ้นสุดของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม

นิติบุคคล

บุคคลคือสิ่งที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย มนุษย์ทุกคนเป็นบุคคล แต่บุคคลมิใช่มีแต่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นที่เป็นบุคคลด้วย สิ่งนั้นคือนิติบุคคล นิติบุคคลประกอบไปด้วย

1. คณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม กระทรวง ทบวง กรม วัด เป็นต้น

2. กิจการหรือกองทรัพย์สินที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น มูลนิธิ เป็นต้น

นิติบุคคลนี้สามารถมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ได้ เช่น ทำนิติกรรมสัญญา เป็นลูกหนี้ เจ้าหนี้ หรือดำเนินคดีในศาลได้ การที่กฎหมายบัญญัติรับรองให้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้นั้น ก็เพราะสิ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ กิจการบางอย่างมนุษย์ไม่สามารถทำได้โดยลำพังคนเดียว ต้องร่วมมือร่วมแรงกันหลายคนเป็นคณะบุคคล และถ้าไม่มีสภาพบุคคลแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำกิจการต่าง ๆ ได้โดยสะดวก นิติบุคคลนี้จะมีสิทธิและหน้าที่แยกต่างหากจากสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่รวมเป็นคณะ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในทรัพย์สินนั้น

คณะบุคคล หรือกองทรัพย์สินนั้นมิได้เป็นนิติบุคคลเสมอไป การที่จะเป็นนิติบุคคลได้ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ ดังที่มาตรา 65 บัญญัติไว้ว่า “นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าให้เป็นนิติบุคคล ก็จะเป็นนิติบุคคลไม่ได้ เช่น ครอบครัวไม่ถือว่าเป็นนิติบุคคล

นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มี 4 ประเภทดังนี้

1. ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว ห้างหุ้นส่วนคือการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น (มาตรา 1012) ห้างหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด (มาตรา 1025) ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ถ้าจดทะเบียนก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรวมกันเข้าเป็นห้างหุ้นส่วนนั้น

1.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่งซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนอยู่สองจำพวกดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ (มาตรา 1077)

1.2.1 ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ

1.2.2 ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนอีกพวกหนึ่งอันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น กฎหมายบังคับว่าต้องจดทะเบียน (มาตรา1078) เมื่อจดทะเบียนแล้ว ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรวมกันเข้าเป็นห้างหุ้นส่วนนั้น

2. บริษัทจำกัด คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ (มาตรา 1096) บริษัทจำกัดกฎหมายบังคับว่าต้องจดทะเบียน (มาตรา 1111) เมื่อจดทะเบียนแล้วก็เป็น นิติบุคคล

3. สมาคม คือการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้ากัน เพื่อทำการอันใดอันหนึ่งร่วมกันอัน มิใช่เป็นการหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่อง
ร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน ต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ (มาตรา 78) สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล (มาตรา 83) เช่น สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยพณิชยการบางนา เป็นต้น

4. มูลนิธิได้รับอำนาจแล้ว มูลนิธิได้แก่ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์
เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกัน และได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ การจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง (มาตรา 110) มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล (มาตรา 122) เช่น มูลนิธิวิทยาลัยพณิชยการบางนา เป็นต้น

นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ๆ

นอกจากจะมีนิติบุคคล 4 ประเภทตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังมีนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ๆ อีก เช่น

สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

วัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

บริษัทมหาชนจำกัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

เมืองพัทยา เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521

สหกรณ์ที่จดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

พรรคการเมืองที่จดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524

องค์การมหาชน เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542

องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

เทศบาล เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2486

มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2514

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 เป็นต้น

สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคล

โดยหลักทั่วไป นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา คือมีชื่อ มีสัญชาติ มีภูมิลำเนา มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่นิติบุคคลถูก
ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น และนิติบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต
จิตใจอย่างมนุษย์ กฎหมายจึงได้จำกัดอำนาจของนิติบุคคลไว้ 2 ประการคือ

1. ต้องดำเนินการตามขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ มาตรา 66 บัญญัติว่า “นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสาร
จัดตั้ง” เมื่อได้กำหนดอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งแล้ว จะดำเนินการนอกอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ไม่ได้ เช่น บริษัทจำกัดแห่งหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำการค้าขายข้าว บริษัทจำกัดนี้ย่อมมีสิทธิค้าขายข้าวเท่านั้น จะไปค้าขายรถยนต์ไม่ได้ เพราะเป็นการนอกวัตถุประสงค์

2. ไม่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นไปได้เฉพาะบุคคลธรรมดามาตรา 67 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นไปได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น” นิติบุคคลเป็นสิ่งที่กฎหมายสมมุติขึ้น นิติบุคคลไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้นสิทธิบางอย่างที่มนุษย์มีได้แต่นิติบุคคลมีไม่ได้ เช่น ไม่สามารถทำการสมรส เป็นบิดามารดา บุตร เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่มีสิทธิในทางการเมือง ไม่ต้องรับราชการทหาร ไม่อาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ